- คำอธิบายตราสัญลักษณ์ของหลักสูตร
รูปร่างตราสัญลักษณ์ประกอบขึ้นด้วยเส้นสายอ่อยช้อยแห่งตัวอักษรที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คือ “ศศ.บ. ไทย” แสดงถึงความเชื่อมโยงกับลายไทย (ลายกระหนก) ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้เส้นสายลายเส้นอย่างอ่อนช้อยเขียนผูกต่อกันเป็นรูปร่างเรื่องราวขึ้นมา
ดังนั้น ตราสัญลักษณ์ของหลักสูตรนี้ จึงทำหน้าที่พร้อมกัน 2 ประการ คือ
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษา วรรณคดี และการใช้ภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ประกอบอาชีพด้านมนุษยศาสตร์และอักษรศาสตร์ การสื่อสารมวลชน การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ข้าราชการ ครูอาจารย์ศิลปิน นักคิดนักเขียน นักวิชาการ พนักงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร กองบรรณาธิการ นักเขียน นักข่าว เลขานุการ นักวิชาการศึกษา เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
นอกจากนี้ บัณฑิตยังสามารถนำความรู้ไปศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพต่อไป
เราทุกคนคือศิลปศาสตร์ภาษาไทย
เราทุกคนล้วนใช่เพื่อนพ้องน้องพี่
เราทุกคนไม่มีเพียงรู้รับ เพราะยังรู้จักให้
เราทุกคนไม่ใช่แค่อนุรักษ์ หากยังคือผู้สร้าง
เราทุกคนกำลังสร้างชีวิตไทย
“ภาษาชีวิตไทย สื่อใจชุมชนชาติ อุดมด้วยศิลป์ศาสตร์ ศิลปศาสตร์ภาษาไทย”
“ภาษาชีวิตไทย สื่อใจชุมชนชาติ อุดมด้วยศิลป์ศาสตร์ ศิลปศาสตร์ภาษาไทย”
เราทุกคนคือศิลปศาสตร์ภาษาไทย หมายถึง
เราไม่ใช่ศาสตร์มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อไปทำหน้าที่สอนหรือเป็นครูภาษาไทยเช่นหลักสูตรการสอนภาษาไทยของคณะครุศาสตร์ หากแต่เราคือศาสตร์แห่งการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ศักยภาพของมนุษย์ด้านภาษา นั่นคือ ด้านการใช้ภาษาไทยอย่างมีศิลป์และอย่างมีศาสตร์ คือมีหลักวิชาพร้อมกับมีศิลปะในการใช้ภาษาไทย
เราทุกคนล้วนใช่เพื่อนพ้องน้องพี่ หมายถึง
นักศึกษาหลักสูตรนี้ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ลูกใคร ยิ่งใหญ่สูงส่งหรือน้อยนิดติดดิน จะรักสนุกหรือชอบสงบ ล้วนคือศิลปศาสตร์ภาษาไทยทั้งสิ้น ทุกคนจะต้องเปิดความคิดและจิตใจต่อกัน สร้างสายใยสัมพันธ์กันเสมือนเพื่อนพ้องน้องพี่ อยู่กันแบบครอบครัว ช่วยเหลือแบ่งปันกัน ดุด่าว่ากล่าวกันได้
เราทุกคนไม่มีเพียงรู้รับ เพราะยังรู้จักให้ หมายถึง
หลักสูตรนี้ ไม่ใช่แค่สร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ทรงภูมิความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยแต่กับตำรา ตัวหนังสือทฤษฎี หรือให้ได้เกรดคะแนนดีๆ เป็นบัณฑิตพร้อมทำงานหาเงินสร้างฐานะตนและครอบครัวตนเท่านั้น แต่หลักสูตรนี้ยังได้มุ่งสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้รู้จักเผื่อแผ่คนอื่น มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าประโยชน์ส่วนตน นั่นคือ นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จะต้องเรียนรู้เพื่อจะเป็นผู้ให้คนอื่น ไม่ใช่รู้แต่รับเอาจากคนอื่นฝ่ายเดียว
เราทุกคนไม่ใช่แค่อนุรักษ์ หากยังคือผู้สร้าง หมายถึง
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ไม่ใช่หน่วยงานหรือองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ที่จะต้องรับบทบาทเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาษาไทยถึงแม้จะเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย เป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนด้านภาษาไทยจะต้องมุ่งทำตัวเป็นนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่หน้าที่ ถ้าจะเป็นหน้าที่ก็เป็นหน้าที่โดยอ้อม เพราะหน้าที่โดยตรงเป็นของกระทรวงทบวงกรมหรือองค์กรอื่นๆ ที่รับผิดชอบด้านนี้อยู่แล้ว หลักสูตรนี้จึงไม่จำเป็นต้องมุ่งให้นักศึกษาคอยพิทักษ์หรือติดตามรักษา (อนุรักษ์) ศิลปวัฒนธรรมไทย หากแต่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ด้านการใช้ภาษาไทย ให้เข้าถึงภาษาไทยในฐานะ “มรดกวรรณศิลป์” และในฐานะ “การนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน” ของชีวิตนักศึกษาด้วย นั่นคือ การทำให้นักศึกษาหลักสูตรนี้เรียนรู้ที่จะตระหนักว่าตนไม่ใช่แค่ “นักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย” เพราะตนคือ “ผู้สร้างภาษาไทยเพื่อใช้ในการดำรงชีพและสร้างสรรค์ชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน”
เราทุกคนกำลังสร้างชีวิตไทย
“ภาษาชีวิตไทย สื่อใจชุมชนชาติ อุดมด้วยศิลป์ศาสตร์ ศิลปศาสตร์ภาษาไทย” หมายถึง
ข้อความส่วนท้ายเหล่านี้ เป็นการเน้นย้ำอัตลักษณ์ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยว่า นักศึกษาหลักสูตรนี้กำลังเรียนรู้เป็นผู้สร้างภาษาไทยเพื่อใช้ในการดำรงชีพและสร้างสรรคชีวิตในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งก็คือ การสร้างชีวิตไทย ได้แก่ ชีวิตของคนไทย ของสังคมชุมชนชาติไทย ผ่านการใช้ภาษาไทยทั้งเพื่อการสื่อสารและเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างสรรค์ภาษาไทยในรูปแบบของศิลปะ เช่น วรรณกรรมต่างๆ อาทิ บทกวี เรื่องสั้น นิยาย บทละคร เรื่องเล่า สารคดี การละเล่นบันเทิงต่างๆ การร้องรำทำเพลง เหล่านี้ล้วนเป็นวิถีชีวิตของสังคมไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมที่เปรียบเหมือน “จิตใจ” ของชาติไทย ฉะนั้น นักศึกษาได้เรียนรู้และสำเร็จหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จึงไม่ต่างจากการที่นักศึกษากำลังสร้างชีวิตไทยนั่นเอง
แลเหตุนี้ นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จึงสามารถขนานนามได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ที่เป็น “ภาษาชีวิตไทย” เป็นภาษาที่ “สื่อใจชุมชนชาติ” เป็นภาษาที่ “อุดมด้วยศิลป์ศาสตร์” เพราะนักศึกษาคือนักศึกษาหลักสูตร “ศิลปศาสตร์ภาษาไทย”